ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊งสำโรงใต้

ความรู้เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น

ความรู้เกี่ยวกับ วิทยุสมัครเล่น

ความเป็นมาของกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย
  กิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย ได้เริ่มด้วยกลุ่มผู้สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่น รวมตัวก่อตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2507 และได้พยายามขออนุญาต มีและใช้เครื่องวิทยุโทรคมนาคม สำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติยังไม่มั่นใจว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นจะได้ประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ และการควบคุมจะทำได้เพียงใด
  เพื่อเป็นการส่งสริมกิจการวิทยุสมัครเล่นอีกทางหนึ่ง กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้มีโครงการทดลองให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่น
ในรูปของ นักวิทยุอาสาสมัคร หรือ VR ขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2524 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้เปิดข่ายวิทยุอาสามัครขึ้นโดยจัดตั้งเป็นชมรมนักวิทยุอาสาสมัคร มีผู้อำนวยการกองต่าง ๆ สังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นคณะกรรมการชมรมฯ และอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นประธานชมรมฯ ผู้ที่จะเป็นสมาชิกจะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น และต้องผ่านการสอบประวัติจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติและจากกรมตำรวจ ว่าไม่เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วกรมไปรษณีย์โทรเลขจะออกใบอนุญาตมีและใช้ เครื่องวิทยุโทรคมนาคมและอนุญาตให้เป็นนักวิทยุอาสาสมัครหรือ VR โดยการกำหนดสัญญาณเรียกขาน (CALL SIGN) ให้สัญญาณเรียกขานที่กำหนดขึ้น จะขึ้นต้นด้วย VR และตามด้วยตัวเลขจาก VR001 ไปตามลำดับก่อนหลัง
  เพื่อให้การกำกับดูแลการใช้วิทยุคมนาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมข่ายมีสัญญาณเรียกขานว่า "ศูนย์สายลม" ขึ้นที่บริเวณภายในกรมไปรษณีย์โทรเลขและอนุญาตให้ใช้ความถี่ได้เพียง 3 ช่องคือ 144.500 - 144.600 และ 144.700 MHz
  ในการเปิดสอบรุ่นแรกมีผู้สอบได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น จำนวน 312 คน การใช้ช่องความถี่ในการติดต่อสื่อสารเริ่มหนาแน่นขึ้นเมื่อจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2525 กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เพิ่มความถี่ให้อีกหนึ่งช่องคือ 145.000 MHz เป็นช่องสำหรับแจ้งเหตุโดยศูนย์สายลมทำหน้าที่ประสานงานให้ระหว่างนักวิทยุสมัครเล่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ โดยนักวิทยุสมัครเล่นทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ ในกรณีที่นักวิทยุสมัครเล่นพบเห็นผู้กระทำความผิด ก็จะแจ้งให้ศูนย์สายลมทราบ เมื่อศูนย์สายลมรับข่าวแล้วจะทำหน้าที่กลั่นกรองเรียบเรียงข่าวนั้น ให้เป็นไปตามหลักการของการส่งข่าวที่ถูกต้องก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้นักวิทยุสมัครเล่นช่วยสังเกตผู้กระทำผิดกฎหมาย เช่น คดีรถหายหรือคดีชนแล้วหนีตำรวจแจ้งให้ศูนย์สายลมทราบ
เพื่อกระจายข่าว ให้นักวิทยุสมัครเล่นได้ช่วยสังเกตและติดตามเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการสายตรวจร่วมระหว่างนักวิทยุสมัครเล่นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยให้นักวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้ใช้เครื่องวิทยุและความถี่วิทยุในย่านของกิจการวิทยุสมัครเล่น ในการติดต่อประสานงานและใช้ยานพาหนะของนักวิทยุสมัครเล่นออกตรวจตามถนนสายต่าง ๆ ในตอนกลางคืนโดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเห็นประโยชน์ ของกิจการวิทยุสมัครเล่น ในปีพ.ศ. 2526 ได้มีการจัดตั้งสมาคมนักวิทยุอาสาสมัครขึ้น เพื่อให้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จากผลงานที่นักวิทยุสมัครเล่นในรูปของนักวิทยุอาสาสมัครได้รับการยอมรับว่ากิจการวิทยุสมัครเล่น
เป็นกิจการที่มีประโยชน์
  เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2530 กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่น
ในประเทศไทยได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) ซึ่งออกเป็นระเบียบของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ
ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530 ผลของระเบียบนี้ทำให้ต้องมีการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เป็นตามสากล
เช่น VR001 เป็น HS1BA และ VR คนสุดท้ายคือ VR2953 ดังนั้นนักวิทยุสมัครเล่นทุกคนจะต้องมีสัญญาณเรียกขานสากล
ที่ขึ้นต้นด้วย HS ซึ่งหมายถึงประเทศไทย ตามด้วยเลข 1 ถึง 0 โดยตัวเลขในสัญญาณเรียกขานนั้นจะแสดงให้ทราบว่านักวิทยุสมัครเล่นคนนั้นอยู่ในเขตใด เช่น HS1 และ HS0 หมายถึงนักวิทยุสมัครเล่นภาคกลาง HS9 หมายถึงนักวิทยุสมัครเล่นที่อยู่ภาคใต้ เป็นต้น
และตามด้วยอักษร 2 ตัว และ 3 ตัวตามลำดับ
   ปัจจุบันมีผู้สอบได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแล้วจำนวนมากกว่า 160,000 คน และผู้ได้รับอนุญาต
มี CALL SIGN แล้วจำนวนมากกว่า 92,000 คน จำนวนช่องความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มขึ้นเต็มย่านVHF จำนวน 81 ช่อง และเพื่อความรอบคอบในกรณีที่สัญญาณเรียกขานที่ขึ้นต้นด้วย HS จัดให้หมดแล้ว กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ขอให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดอักษรสำหรับ CALL SIGN ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นใหม่ ITU ได้กำหนดให้ใช้ E2 ซึ่งจะใช้แทน HS ต่อไป
  กิจการวิทยุสมัครเล่นไทยได้สร้างเกียรติประวัติในการช่วยเหลือทางราชการในการแจ้งข่าว เมื่อเกิดพายุเกย์พัดเข้าบริเวณจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียงปลายปี พ.ศ. 2532 ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เสาไฟฟ้าแรงสูงและสายอากาศวิทยุถูกพายุพัดล้ม เสียหายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งระบบสื่อสารของทางราชการถูกตัดขาด
ไม่สามารถติดต่อกันได้ รัฐบาลได้ขอความร่วมมือนักวิทยุสมัครเล่นให้ช่วยติดต่อรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้รัฐบาลได้ทราบเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น นักวิทยุสมัครเล่นได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลสามารถทราบถึงความเดือดร้อนและความเสียหายของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้เห็นประโยชน์ของนักวิทยุเป็นอย่างดียิ่ง และยอมรับว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการที่มีความสำคัญ ควรได้รับการสนับสนุนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
วัตถุประสงค์ของกิจการวิทยุสมัครเล่น
กิจการวิทยุสมัครเล่น มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.เสริมสร้างประโยชน์ต่อสังคมและความปลอดภัยของชาติ
2.ใช้เป็นข่ายสื่อสารสาธารณะสำรองในยามฉุกเฉินหรือเกิดภัยพิบัติ
3.พัฒนาความรู้ด้านวิชาการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ
4.ฝึกฝนพนักงานวิทยุให้มีความรู้ความชำนาญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
5.เพิ่มพูนจำนวนพนักงานวิทยุสำรองไว้ใช้ประโยชน์ยามฉุกเฉิน
6.สร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยุระหว่างประเทศ
คุณสมบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่นพนักงานวิทยุสมัครเล่นต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่นที่กรมไปรษณีย์โทรเลข (สำนักงาน กทช.ในปัจจุบัน) กำหนด
2. ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งกรมไปรษณีโทรเลข (สำนักงาน กทช.ในปัจจุบัน) ออกให้ หรือประกาศนียบัตรซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขเทียบเท่า
ประเภทของพนักงานวิทยุสมัครเล่น
พนักงานวิทยุสมัครเล่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
2. พนักงานวิทยสมัครเล่นขั้นกลาง
3. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง
   ผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภท ต่าง ๆ จะต้องสอบได้ประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภทนั้น ๆ หรือ มีประกาศนียบัตรที่กรมไปรษณีย์โทรเลขเทียบเท่า และยื่นขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นจากกรมไปรษณีย์โทรเลข
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง จะต้องสอบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นได้ก่อน
และ ผู้ที่ประสงค์จะสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง จะต้องสอบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นต้นได้แล้ว
ซึ่งทางกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภทต่าง ๆ โดยใช้หลักสูตรตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด และกรมไปรษณีย์โทรเลขจะเป็นผู้ออกประกาศนียบัตร พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นแก่บุคคลบางประเภทตามที่ตามที่คณะกรรมการจะกำหนด
    จะเป็นนักวิทยุสมัครเล่นต้องทำอย่างไร
การสมัครและการเตรียมตัวสอบ
1. คุณสมบัติ
ผู้ที่จะสอบเป็นนักวิทยุสมัครเล่นได้ ต้องมีสัญชาติไทย ต้องไม่เคยสอบผ่านมาก่อนและไม่เป็นพระภิกษุสามเณร
2. การซื้อใบสมัครและคู่มือการสอบ การเข้าสอบ
2.1 ซื้อใบสมัครสอบได้ที่
2.1.1 กรมไปรษณีย์โทรเลข (สำนักงาน กทช.) ซอยพหลโยธิน8 (ซอยสายลม) โทร.271-0151-60 ติดต่อแผนกฝ่ายใบอนุญาต
2.1.2 ร้านจำหน่ายวิทยุสื่อสารทั่วไปที่อยู่ใกล้บ้าน
2.1.3 ซื้อใบสมัครและสมัครสอบที่ศูนย์/สถานีตรวจสอบเฝ้าฟังวิทยุของ กรมไปรษณีย์โทรเลขส่วนภูมิภาค
2.1.4 สั่งซื้อทางไปรษณีย์ โดยเขียนชื่อ นามสกุล และที่อยู่ ในลักษณะจ่าหน้าซองถึง ตัวท่านเองอย่างชัดเจน ลงในแผ่นกระดาษ 5 X 10 เซนติเมตร เพื่อใช้ปิดหน้าซองที่จะส่งคู่มือ แนะนำการสอบไปยังผู้ซื้อ ส่งพร้อมธนาณัติ (ไม่รับเงินสด ตั๋วแลกเงินหรือเช็คธนาคาร) สั่งจ่าย ปท.สามเสนใน ในนามผู้อำนวยการสวัสดิการกรมไปรษณีย์โทรเลข มายัง ตู้ ปณ.248 สามเสนใน กทม. 10400 และวงเล็บด้านล่างว่า "สั่งซื้อคู่มือ" สามารถสั่งซื้อหนังสือข้อสอบกลางของกรมไปรษณีย์ โทรเลขได้พร้อมกัน
ค่าใบสมัครสอบและคู่มือสอบ 70 บาท
ค่าหนังสือข้อสอบกลาง 120 บาท
3. หลักฐานการสมัคร
ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป , ( ค่าใบสมัครสอบ 70 บาท , ค่าสมัครสอบ 200 บาท , หนังสือข้อสอบ -กลาง 120 บาท รวม 390 บาท ) ซื้อได้ที่กองใบอนุญาต ชั้น 1
4. ท่านจะสามารถสมัครสอบที่ใดก็ได้ตามที่สะดวก
(ตามตารางกำหนดสอบที่แนบมากับใบสมัคร) แต่นามเรียกขานจะยึดถือตามทะเบียนบ้านเป็นหลัก หรือสมัครสอบทางไปรษณีย์ แต่เวลาสอบต้องไปสอบ ณ สถานที่ตามตารางที่กรมฯ จัดสอบให้เท่านั้นไม่มีการสอบผ่านทางไปรษณีย์
5. เมื่อถึงกำหนดวันสอบต้องไปตามสถานที่ที่กรมไปรษณีย์ กำหนดไว้
เนื้อหาที่สอบ
หลักสูตรการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
วิชาที่ 1 ความรู้ทั่วไป กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่น
1.1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น องค์กรระหว่างประเทศ
และข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
1.2 ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 กฎกระทรวงคมนาคมและประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลขที่เกี่ยวข้อง
1.3 ความรู้เกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ
ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530
1.4 ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดสัญญาณเรียกขานสำหรับประเทศไทย และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
วิชาที่ 2 การติดต่อสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่น
2.1 ประมวลรหัส Q
2.2 การรายงานสัญญาณระบบ RST
2.3 การอ่านออกเสียงตัวอักษร
2.4 คำเฉพาะและคำย่อต่าง ๆที่ควรรู้
2.5 การปฏิบัติและมารยาทในการเรียกขาน และการติดต่อสื่อสาร
2.6 การรับและแจ้งเหตุฉุกเฉิน
2.7 สมุดบันทึกการติดต่อสื่อสาร
วิชาที่ 3 ทฤษฎีต่าง ๆ สำหรับนักวิทยุสมัครเล่น
3.1 ทฤษฎีไฟฟ้า
- คำนำหน้าหน่วย
- ตัวนำไฟฟ้าและฉนวนไฟฟ้า
- แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าแบบต่าง ๆ
- คุณสมบัติของแบตเตอรี่แบบต่าง ๆ
- แรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า ตัวต้านทาน กำลังไฟฟ้า และกฎของโอห์ม
- การต่อตัวต้านทานแบบอนุกรม และแบบขนาน
- ไฟฟ้ากระแสตรง และไฟฟ้ากระแสสลับ
- ตัวเก็บประจุไฟฟ้า ตัวเหนี่ยวนำไฟฟ้า และการต่อแบบอนุกรม และแบบขนาน
- คาปาซิตีฟรีแอกแตนซ์ อิมพีแดนซ์ และรีโซแนนซ์
- หม้อแปลงไฟฟ้า
- สัญลักษณ์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรรู้
- เดซิเบล
3.2 ทฤษฎีอิเล็กทรอนิกส์
- หน้าที่โดยสังเขปและสัญลักษณ์ของอุปกรณ์บางอย่าง ได้แก่ ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ผลึกแร่ ไมโครโฟน ลำโพง หลอดวิทยุ และไอซี
3.3 หลักการทำงานของเครื่องรับ-ส่งวิทยุ
- หน้าที่ของภาคต่าง ๆ ในเครื่องรับ/ส่งวิทยุแบบ TRF และแบบซุปเปอร์เฮเทอโรดายน์
- AM และ FM
- คุณสมบัติของเครื่องรับ/ส่งวิทยุ
- ซิมเพล็กซ์ ฟูลดูเพล็กซ์ และเซมิดูเพล็กซ์
3.4 สายอากาศและสายนำสัญญาณ
- คุณสมบัติของคลื่นวิทยุ
- ความถี่และความยาวคลื่น
- โพลาไรเซชั่น
- คุณสมบัติของสายอากาศ
- สายอากาศพื้นฐานที่ควรรู้
- สายนำสัญญาณแบบต่าง ๆ และคุณสมบัติที่ควรรู้
- SWR และการแมทช์
- บาลัน
3.5 การแพร่กระจายคลื่น
- การแบ่งย่านความถี่
- ลักษณะการแพร่กระจายคลื่นของย่านความถี่ต่าง ๆ
- องค์ประกอบที่มีผลต่อระยะการรับ/ส่งในย่าน VHF
วิชาที่ 4 หลักปฏิบัติของนักวิทยุสมัครเล่น
4.1 ข้อพึงระวังเรื่องความปลอดภัย
4.2 การใช้เครื่องมือวัดและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ
4.3 สาเหตุและการลดปัญหาการรบกวน
   หมายเหตุ วิธีการสอบ
ทดสอบความรู้ความเข้าใจในวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นของกรมไปรษณีย์โทรเลข ด้วยวิธีการสอบข้อเขียนโดยข้อสอบจะเป็นปรนัยจำนวน 100 ข้อ ที่นำมาจากหนังสือข้อสอบกลางพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ซึ่งจัดพิมพ์โดยสวัสดิการกรมไปรษณีย์โทรเลข
   เกณฑ์การตัดสิน
เกณฑ์การตัดสินในการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นนั้นได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะถือว่าเป็นผู้สอบได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ต้องเป็นผู้ที่สอบได้คะแนนตามหลักสูตรการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นของกรมไปรษณีย์โทรเลข ไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ
ข้อกำหนดทางเทคนิคของสถานีวิทยุสมัครเล่น
   ข้อกำหนดทางเทคนิคของสถานีวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
ให้ใช้ความถี่ในย่าน 144-146 MHz ตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
สถานีวิทยุสมัครเล่น ควบคุมข่ายให้ใช้กำลังส่งไม่เกิน 60 วัตต์
สถานีวิทยุสมัครเล่นชนิดติดตั้งประจำที่ หรือติดตั้งในรถยนต์ ให้ใช้กำลังส่งไม่เกิน 10 วัตต์
และเครื่องมือถือให้มีกำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์
   ข้อกำหนดทางเทคนิคของสถานีวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง
ให้ใช้ความถี่ต่อไปนี้ ย่าน 144 - 146 Mhz ตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
ย่าน 7,000 - 7,100 KHz ย่าน 14,000 - 14,350 KHz ย่าน 21,000 - -21,450 KHz ย่าน 28,000 - -29,700 KHz
ให้ใช้กำลังส่งตามที่ กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
รับ - ส่ง ข่าวสารประเภทเสียงและสัญญาณโทรเลขรหัสมอร์ส ตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
   ข้อกำหนดทางเทคนิคของสถานีวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง
ให้ใช้ความถี่ต่อไปนี้ ย่าน 144 - 146 Mhz ตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
ย่าน 7,000 - 7,100 KHz ย่าน 14,000 - 14,350 KHz ย่าน 21,000 - -21,450 KHz ย่าน 28,000 - -29,700 KHz ให้ใช้กำลงส่งตามที่ กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนดสูงกว่าขั้นกลาง
รับ - ส่ง ข่าวสารประเภทเสียงและสัญญาณโทรเลขรหัสมอร์ส ความเร็วสูงกว่าขั้นกลาง ตามที่กรมไปรษณีย์โทรเลขกำหนด
   สัญญาณเรียกขาน (Call Sign)
   ข้อกำหนดของสัญญานเรียกขาน
ตามกฎข้อบังคับ วิทยุระหว่างประเทศกำหนด ให้สถานีวิทยุคมนาคม ให้สัญญาณเรียกขาน (Call Sign) เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเป็นสัญญาณมาจากสถานีใด เป็นสถานีในกิจการประเภทใด และเป็นของประเทศใด หรืออยู่ในพื้นที่ใดของประเทศ เช่น HSA - HAZ และ E2A - E2Z คืออักษรขึ้นต้นสัญญาณ เรียกขานระหว่างประเทศสำหรับ ประเทศไทย เป็นต้น กรมไปรษณีย์โทรเลข จะเป็นผู้กำหนดสัญญาณเรียกขาน
สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย โดยใช้รูปแบบที่ระบุ ในข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ และกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
HS n X
HS n XX
HS n XXX
จากรหัสข้างต้นนั้น มีความหมายตาม อักษรดังนี้
HS หมายถึง ระบุว่าเป็นประเทศไทย ตามข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ เป็นรหัสเก่า ที่ยังเหลือใช้อยู่
n หมายถึง ตัวเลข 0 ถึง 9 ใช้ระบุว่าอยู่ในเขตพื้นที่ใดของประเทศไทย
พยัญชนะ 1 ตัว หรือ 2 ตัว หรือ 3 ตัว มีรายละเอียดดังนี้
X - ใช้สำหรับระดับ VIP สูงสุดของประเทศ
XX - ใช้เรียงตามลำดับจาก AA - ZZ ยกเว้น AA - AZ ซึ่งสำรองไว้สำหรับสถานีกรณีพิเศษ เช่น สถานีทวนสัญญาณ (beacon), สถานีของชมรม หรือสมาคม (Club Station) และ สถานีชั่วคราวเฉพาะกิจ และยกเว้น CQ, HS
XXX - ใช้เรียงตามลำดับจาก AAA - ZZZ ยกเว้น DDD ,QAA - QZZ , SOS และ TTT
E2 n X
E2 n XX
E2 n XXX
จากรหัสข้างต้นนั้น มีความหมายตาม อักษรดังนี้
E2 หมายถึง ระบุว่าเป็นประเทศไทย ตามข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ เป็นรหัสใหม่ ทีมีใช้กันแล้ว ในบางพื้นที่
n หมายถึง ตัวเลข 0 ถึง 9 ใช้ระบุว่าอยู่ในเขตพื้นที่ใดของประเทศไทย
พยัญชนะ 1 ตัว หรือ 2 ตัว หรือ 3 ตัว มีรายละเอียดดังนี้
X - ใช้สำหรับระดับ VIP สูงสุดของประเทศ
XX - ใช้เรียงตามลำดับจาก AA - ZZ ยกเว้น AA - AZ ซึ่งสำรองไว้สำหรับสถานีกรณีพิเศษ เช่น สถานีทวนสัญญาณ (beacon), สถานีของชมรม หรือสมาคม (Club Station) และ สถานีชั่วคราวเฉพาะกิจ และยกเว้น CQ, HS
XXX - ใช้เรียงตามลำดับจาก AAA - ZZZ ยกเว้น DDD ,QAA - QZZ , SOS และ TTT
การแบ่งเขตสัญญาณเรียกขานในประเทศ
สัญญาณเรียกขานแบ่งกลุ่มตามพื้นที่
1. สัญญาณเรียกขาน "HS 1 XXX" และ HS 2 XXX" มี 10 จังหวัด
กรุงเทพมหานคร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง
2. สัญญาณเรียกขาน "HS 2 XXX" มี 7 จังหวัด
จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง
3. สัญญาณเรียกขาน "HS 3 XXX" มี 7 จังหวัด
ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี
4. สัญญาณเรียกขาน "HS 4 XXX" มี 10 จังหวัด
กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร นองคาย อุดรธานี
5. สัญญาณเรียกขาน "HS 5 XXX" มี 9 จังหวัด
เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์
6. สัญญาณเรียกขาน "HS 6 XXX" มี 8 จังหวัด
กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุทัยธานี
7. สัญญาณเรียกขาน "HS 7 XXX" มี 8 จังหวัด
กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี
8. สัญญาณเรียกขาน "HS 8 XXX" มี 7 จังหวัด
กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี
9. สัญญาณเรียกขาน "HS 9 XXX" มี 7 จังหวัด
ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล
สัญญาณเรียกขานใหม่
   การแบ่งเขตนามเรียกขานใหม่
เขต 1 HS0, HS1 ใช้สัญญาณเรียกขาน E20 E21 E22 E23 E24 E25 E26
เขต 2 HS2 ใช้สัญญาณเรียกขาน E27
เขต 3 HS3 ใช้สัญญาณเรียกขาน E27
เขต 4 HS4 ใช้สัญญาณเรียกขาน E27
เขต 5 HS5 ใช้สัญญาณเรียกขาน E28
เขต 6 HS6 ใช้สัญญาณเรียกขาน E28
เขต 7 HS7 ใช้สัญญาณเรียกขาน E29
เขต 8 HS8 ใช้สัญญาณเรียกขาน E29
เขต 9 HS9 ใช้สัญญาณเรียกขาน E29
   ข้อห้ามต่างๆ ในกิจการวิทยุสมัครเล่น
-กิจการวิทยุสมัครเล่น มีข้อห้ามดังต่อไปนี้
-ติดต่อกับสถานีวิทยุสมัครเล่นในประเทศที่ไม่อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่น
-ใช้รหัสลับในการติดต่อสื่อสารนอกเหนือไปจากประมวลคำย่อสากล ที่ใช้ใน กิจการวิทยุสมัครเล่น
-รับส่งข่าวสาร ที่นอกเหนือไปจากกิจการวิทยุสมัครเล่น เช่น การส่งข่าวทาง ธุรกิจ การค้า
-การส่งข่าวสารที่ต้องพึ่งบริการ โทรคมนาคม
-การจ้างวานรับส่งข่าวสารไปยังบุคคลที่สาม
-การใช้ถ้อยคำหยาบคายไม่สุภาพในการติดต่อ
-การรับส่งข่าว อันมีเนื้อหาละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง
-ส่งเสียงดนตรี รายการบันเทิง และรายการโฆษณาทุกประเภท
-จงใจกระทำให้เกิดการรบกวน ต่อการสื่อสารของสถานีอื่น ๆ เช่น การส่งสัญญาณคลื่นรบกวนประเภทต่าง ๆ
-ติดต่อกับ สถานีที่ไม่ได้รับอนุญาต
-ใช้สัญญาณเรียกขานปลอม หรือแอบอ้างใช้สัญญาณเรียกขานของผู้อื่น
-แย่งใช้ช่องสัญญาณติดต่อสื่อสาร
-ยินยอมให้ผู้อื่นที่ไม่มีใบอนุญาต ใช้สถานีหรือเครื่องวิทยุ
-กระทำผิดกฎหมายวิทยุคมนาคม หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
ที่มา  http://burupa.igetweb.com
 ย่านความถี่วิทยุสมัครเล่น
  วิทยุสื่อสารย่านความถี่ 144-146 Mhz. ย่านความถี่วิทยุสมัครเล่น ได้รับความนิยมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชมรม อยู่แทบทุกจังหวัด ผู้มีสิทธิ์ใช้ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตั้งในรถยนต์ได้โดยการติดตั้งสายอากาศนอก เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับ-ส่งสูง เช่น 40-50 กม.บางครั้งอาจจะติดต่อได้ข้ามจังหวัดเลยทีเดียว ตัวเครื่องขนาดพกพา (Handy) ในรูป สามารถรับส่งระหว่างเครื่องได้ 1 ถึง 7-8 กม.โดยประมาณ แล้วแต่สภาพพื้นที่ 

 
วิทยุสื่อสารความถี่ 245 Mhz. เครื่องสีแดง เป็นความถี่ที่ได้รับความนิยมรองลงมา จัดเป็นความถี่ประชาชน (CB-Citizen Band) ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตเหมือนกับย่าน 144-146 Mhz. แต่เครื่องที่ใช้ต้องถูกกฎหมาย ย่านความถี่นี้กำลังได้รับความนิยมทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้ สภาพสวย ความแรงของสัญญาณสูงรับ-ส่งได้ไกล 1-10 กม.(แล้วแต่พื้นที่) สามารถติดตั้งในรถยนต์ได้ โดยใช้สายอากาศเพิ่มเติม เพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งได้หลายสิบกิโลเมตร 


วิทยุสื่อสารความถี่ 78 Mhz. เครื่องสีเหลืองที่มีการโฆษณาทางโทรทัศน์เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชัดมั๊ย ชัดเจน อะไรอย่างนั้น ถ้าจำไม่ผิด ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าใดนัก แต่ก็ยังมีผู้ใช้จำนวนหนึ่ง การใช้งานเหมือนกับย่าน 245 Mhz.


วิทยุสื่อสารความถี่ 27 Mhz. เป็นวิทยุในย่านความถี่ CB ที่เคยได้รับความนิยมมากในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ,ภูเก็ต แต่ไม่อนุญาตให้ติดตั้งสถานี (ที่บ้าน,รถยนต์)ได้ ความสามารถในการรับส่งไม่มากนัก แต่ถ้าหากติดตั้งสายอากาศนอก (ซึ่งผิดกฎหมาย)จะรับส่งได้ไกลทีเดียว จึงมีผู้ฝ่าฝืนและถูกจับกุมอยู่เนื่องๆ ปัจจุบันมีบางคนหันมาใช้ย่าน 245 Mhz. แทน


วิทยุสื่อสารความถี่ 168 Mhz. เป็นเครื่องสีดำ มีทั้งแบบที่สามารถตั้งความถี่ได้เองและแบบโปรแกรมความถี่ โดยจะกำหนดให้ใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล จะเห็นได้จากเป็นความถี่ที่หน่วยกู้ภัยต่างๆใช้กัน

 
ส่วนนอกเหนือจากความถี่ที่กล่าวมา ก็จะถูกจัดสรรให้ใช้ในกิจการต่างๆกันออกไป    ที่มา http://www.100watts.com