ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊งสำโรงใต้

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน

 

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน คือ ระบบที่มีการเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรและบุคลากรที่จะให้บริการรักษาพยาบาลทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งนอกและในโรงพยาบาล การรักษาในห้องฉุกเฉินของแต่ละโรงพยาบาลมักเป็นแนวตั้งรับ กล่าวคือ ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีอาการและมาถึงโรงพยาบาลแล้ว แต่ในบางครั้งผู้ป่วยมีอาการเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล ซึ่งถ้าให้การรักษาตั้งแต่ที่บ้านหรือ ณ ที่เกิดเหตุก็ย่อมสามารถให้การช่วยชีวิตหรือการรักษาเบื้องต้นที่ดีได้ก่อนที่จะมีอาการลุกลามรุนแรงมากแล้วเมื่อมาถึงโรงพยาบาล ในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลเป็นหลัก             การช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาลได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกในสงครามกษัตริย์นโปเลียน พบว่ามีศัลยแพทย์ชื่อว่า บารอน โดมินิค จีน โลเรย์ ได้นำเครื่องมือแพทย์และแพทย์เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสงครามเป็นครั้งแรก
            
ในระยะแรก ๆ ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินมักถูกจัดตั้งขึ้นในสถานการณ์สงครามที่ต้องลำเลียงผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ต่อมาหลักการช่วยเหลือได้นำมาใช้ในยามปรกติจนกระทั่งพัฒนาโครงข่ายทั้งการสื่อสารและหน่วยกู้ชีพอย่างกว้างขวางเพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ             วัตถุประสงค์ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล             1. เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ประสบภาวะอันตรายต่อชีวิตและอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่มีความสำคัญต่อโอกาสการรอดชีวิต หรือการรักษาการทำงานของอวัยวะสำคัญต่อการมีชีวิต
            
• จากการไม่ได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานะที่ด้อยโอกาส ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่โอกาสการลดภาวะแทรกซ้อนและการรอดชีวิตที่สูงขึ้น
             • โดยมิให้สิทธิการประกันและความสามารถในการจ่ายมาเป็นอุปสรรคในการได้รับการดูแล
             2. เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ช่วยเหลือดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างสุจริตจากการถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติโดยมิชอบ
            
3. เพื่อคุ้มครองสังคมให้มีการใช้ทรัพยากร (บุคลากร หน่วยบริการ และเครื่องมือ) ของระบบร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ             หลักการทั่วไปในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน             ประเทศต่าง ๆ ในโลกทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ล้วนมีการจัดตั้งระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลของตนเองขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้ง National Highway Traffic Safety Administration ให้เป็นองค์กรนำในการกำหนดทิศทางและโครงสร้างในการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีองค์ประกอบสำคัญของระบบ 10 ประการ ได้แก่
            
1. นโยบาย กฎหมาย และมาตรฐาน
            
มีกฎหมายควบคุมการดำเนินงานของระบบโดยรวม ตลอดจนกฎหมายที่กำหนดการสนับสนุนงบประมาณ การดำเนินงาน นโยบาย กฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่ควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงาน
            
2. การบริหารทรัพยากร
            
จะต้องมีองค์กรในส่วนกลางทำหน้าที่ประสานงาน วางแผนความต้องการทรัพยากรต่าง ๆ ของทั้งระบบ ตลอดจนวางแผนการบำรุงรักษาและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพของทั้งประเทศ โดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นอย่างดี
            
3. บุคลากร
            
ต้องมีปริมาณเพียงพอและผ่านการอบรมด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน
            
4. การเคลื่อนย้ายและลำเลียงผู้ป่วย
            
ต้องปรับให้เข้ากับสภาพของภูมิประเทศไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือในเมืองที่มีรถติดขัด
            
5. โรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วย
            
ต้องมีเครือข่ายที่สามารถรองรับผู้ป่วยเพื่อนำส่งได้ถูกต้อง
            
6. การติดต่อสื่อสาร
            
โดยต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ประชาชนสามารถแจ้งข่าวได้ ควรเป็นหมายเลขเดียวที่รับรู้กันทั่วประเทศ การสื่อสารควรเชื่อมโยงทั่วถึงตั้งแต่การสั่งให้รถออกปฏิบัติการ รถสามารถสื่อสารกันเองได้ การสื่อสารจากรถถึงโรงพยาบาล ตลอดจนการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลเพื่อขอรับการสนับสนุนหรือการส่งต่อ
            
7. การประชาสัมพันธ์
            
ทำให้ประชาชนรู้จัก สามารถเรียกใช้บริการ ตลอดจนการให้การศึกษาเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ
            
8. การควบคุมและกำกับการปฏิบัติงาน
            
เป็นระบบที่ต้องมีการควบคุมโดยแพทย์และปฏิบัติงานโดยเจ้าพนักงานกู้ชีพ แพทย์มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกขั้นตอน ได้แก่
            
การวางแผน
            
การกำหนดมาตรฐานและแนวทางการดำเนินงาน การควบคุมกำกับ การรับคำปรึกษา การประเมินผล
            
9. ระบบบริการการบาดเจ็บ
            
อยู่ในแผนโดยได้รับการสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณอย่างเพียงพอ
            
10. ระบบประเมินผล
             ประเมินผลทั้งเชิงคุณภาพของการรักษาพยาบาล ความคุ้มค่าของการลงทุน การใช้ทรัพยากร ขอบเขตความทั่วถึงของการให้บริการ นโยบาย แนวทางต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
             บุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล มีดังนี้             1. First responder
            
เป็นประชาชนที่ต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้มีความรู้ในการเรียกขอความช่วยเหลือ ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและขนย้ายผู้ป่วย
            
2. EMT-Basic
            
เป็นบุคลากรที่ต้องผ่านการฝึกอบรมขั้นพื้นฐานเพื่อทำการช่วยเหลือเบื้องต้นและขนย้ายผู้ป่วยได้
            
3. EMT-Intermediate
            
เป็นบุคลากรที่ต้องผ่านการฝึกอบรมจนสามารถแทงเส้นเลือด ให้ยาทางหลอดเลือด ใส่ท่อช่วยหายใจบางประเภท เช่น esophageal tracheal combitube, laryngeal mask ได้ เป็นต้น
            
4. EMT-Paramedic
            
เป็นบุคลากรที่ต้องผ่านการฝึกอบรมจนสามารถทำการรักษาได้มากกว่า EMT-Intermediate เช่น ใส่ท่อ endotracheal tube ได้ อ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ ให้ยาหลากหลายทางเส้นเลือดได้ รวมทั้งหัตถการต่าง ๆ ได้หลายอย่าง             หลักสำคัญในการดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล             หลักสำคัญในการดูแลผู้เจ็บป่วยนอกโรงพยาบาล มุ่งเน้นการดูแลประคับประคองจนกระทั่งอาการคงที่ก่อนนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง (Stay & Stabilized)
            
ส่วนการดูแลผู้บาดเจ็บ ณ ที่เกิดเหตุมักเน้นการขนส่งผู้บาดเจ็บไปยังสถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถเหมาะสมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้การดูแลประคับประคองในระหว่างทาง (Scoop & Run)      
     

             การปฏิบัติการรถพยาบาลฉุกเฉิน             เจ้าพนักงานกู้ชีพต้องประเมินผู้บาดเจ็บก่อน จากนั้นเลือกอุปกรณ์การเคลื่อนย้ายที่เหมาะสม รถพยาบาลในต่างประเทศมี 3 ประเภท ซึ่งต่างกันที่รูปร่าง ขนาด สมรรถนะการใช้งานให้เหมาะสมตามประเภทผู้ป่วยและตามสภาพพื้นที่
            
ประเภทที่ 1 มีลักษณะเป็นรถบรรทุก รูปร่างคล้ายกล่อง ประเภทนี้จะมีกำลังสูงมาก ห้องโดยสารแยกจากผู้ขับรถข้างหน้า ทำให้คนขับรถและผู้ช่วยเหลือไม่สามารถติดต่อกันได้โดยตรง
            
ประเภทที่ 2 ลักษณะเป็นรถแวน ห้องโดยสารมีขนาดเล็กกว่า แต่ผู้ขับและผู้ช่วยเหลือสามารถติดต่อประสานงานกันได้โดยตรง การขับขี่มีความคล่องตัวมาก นิยมใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหมาะใช้กับบริการในพื้นที่แคบ การจราจรคับคั่งหรือในแหล่งบ้านพักอาศัย
            
ประเภทที่ 3 ลักษณะคล้ายรถบรรทุกและรถแวนรวมกัน ผู้ช่วยเหลือสามารถประเมินผู้บาดเจ็บได้ภายในห้องโดยสาร สามารถติดต่อห้องคนขับได้สะดวกจึงเป็นที่นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา
            
ในประเทศไทยการออกปฏิบัติการของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินยังไม่มีมาตรฐานกำหนดชัดเจน แต่มีการดำเนินการไปในหลายพื้นที่ หน่วยปฏิบัติการทั่วไปแบ่งเป็น 3 ระดับ

             1. หน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (Basic Life Support, BLS)             ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ การดาม การห้ามเลือด การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการเคลื่อนย้ายที่ถูกวิธี การช่วยคลอดฉุกเฉิน สามารถให้ยาทางปากบางชนิดได้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์หรือพยาบาลประจำศูนย์รับแจ้งเหตุ
            
บุคลากร             1. คนขับรถ ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร (First Responder) 20 ชั่วโมง
            
2. เจ้าหน้าที่กู้ชีพ ผ่านการอบรมหลักสูตรปฐมพยาบาลสำหรับเจ้า หน้าที่และอาสาสมัคร (First Responder) 20 ชั่วโมง
            
โดยบุคลากรทั้ง 2 คนต้องมีความรู้ในการ
            
- ประเมินสถานการณ์และประเมินสภาพผู้บาดเจ็บได้
            
- ให้การปฐมพยาบาลขั้นต้นและเคลื่อนย้ายได้อย่างถูกต้อง
            
- สามารถช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้
            
- และควรผ่านหลักสูตร EMT-B 110 ชั่วโมงในที่สุด
            
3. รถพยาบาลควรมีเปลขนย้ายที่สามารถยึดตรึงกับรถได้
            
อุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น pocket mask, เครื่องดูดเสมหะชนิดใช้มือ ถังออกซิเจนและอุปกรณ์ให้ออกซิเจน อุปกรณ์ขนย้ายลำเลียง ได้แก่ long spinal board, splint คอและแขน สายรัดตรึง ที่ยึดตรึงศีรษะ กระเป๋าชุดปฐมพยาบาลประกอบด้วย Cord Clamp อุปกรณ์ทำแผลและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ไฟสีน้ำเงิน

              2. หน่วยกู้ชีพระดับกลาง (Intermediate Life Support, ILS)             สามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยในภาวะใกล้วิกฤตได้ การช่วยชีวิตและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยเทคนิคชั้นสูงที่มีอุปกรณ์ถูกวิธี การช่วยคลอด สามารถให้สารละลายทางเส้นเลือดและยาบางชนิดได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ประจำศูนย์สั่งการ
            
บุคลากร             1. เจ้าพนักงานกู้ชีพพร้อมพยาบาลเทคนิคจำนวน 2 คน หรือ
            
2. เจ้าพนักงานกู้ชีพ 1 คน/พยาบาลเทคนิค 1 คน และเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรม First Responder 1 คน
            
3. คนขับรถที่ผ่านหลักสูตร First Responder
            
อุปกรณ์
            
1. อุปกรณ์ช่วยชีวิต
            
- Self-inflating lung bag พร้อม Mask ต่าง ๆ
            
- อุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจ
            
- ถังออกซิเจนติดในรถ 1 ถัง และชนิดเคลื่อนย้ายได้ 1 ถัง
            
- เครื่องดูดเสมหะ
            
2. อุปกรณ์การขนย้ายลำเลียง
            
- เปลตัก
            
- Spinal board
            
- Splint คอและแขน
            
- ที่ยึดตรึงศีรษะ
            
3. กระเป๋าชุดปฐมพยาบาล
            
- น้ำยาทำแผลชนิดต่าง ๆ
            
- อุปกรณ์ทำแผล
            
- อุปกรณ์ทำคลอด
            
- อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ
            
- คู่มือปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน



            
3. หน่วยกู้ชีพระดับสูง (Advanced Life Support, ALS)             สามารถให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยหนัก การช่วยชีวิตขั้นสูง การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า การปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยเทคนิคขั้นสูง การช่วยคลอด สามารถให้สารละลายทางเส้นเลือดและยาบางชนิดได้โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ประจำศูนย์สั่งการ
            
บุคลากร             1. แพทย์ หรือพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรม ACLS, มีประสบ การณ์ภาคสนามกับหน่วยกู้ชีพ และผ่านการสอบข้อเขียนในเรื่องการให้ยาและความรู้ความเข้าใจในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
            
2. เจ้าพนักงานกู้ชีพ
            
3. คนขับรถที่ผ่านหลักสูตร First Responder
            
4. เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรม First Responder
            
โดยทุกคนต้องมีความรู้ในเรื่อง
            
- ความสามารถในการใช้อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการกู้ชีพระดับ ALS
            
- ความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วย trauma ได้ถูกต้อง
            
- ความสามารถในการลำเลียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ถูกต้อง
            
อุปกรณ์
            
- อุปกรณ์การช่วยชีวิตขั้นสูง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED)
            
- อุปกรณ์การขนย้าย
            
- เวชภัณฑ์ยาชนิดต่าง ๆ
            
- กระเป๋าชุดปฐมพยาบาล
            
             การประเมินสภาพแวดล้อม (Scene size-up)             การประเมินสถานที่เกิดเหตุและสภาพแวดล้อมเพื่อหาข้อมูลสำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นต้น
            
ขั้นตอนมีดังนี้
            
1. ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุ (Scene Safety)             1.1 ประเมินความปลอดภัย
            
บุคลากรควรจอดรถห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 ฟุต อยู่ในที่สูงกว่าจุดเกิดเหตุเหนือลม มองและสังเกตรอบ ๆ จุดเกิดเหตุ วิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
            
บุคลากรอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยและแจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุให้ส่งตำรวจมาที่จุดเกิดเหตุก่อนเข้าไปในสถานการณ์
            
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่มีการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นควรทำดังนี้
            
- เปิดให้มีทางสำหรับออกได้ตลอดเวลา
            
- ไม่ท้าทายตัวต่อตัว
            
- ยึดมั่นว่าเราเป็นบุคลากรสาธารณสุขไม่ใช่ตำรวจ
            
- บอกทุกคนว่าเรามาเพื่อช่วยเหลือ
            
- อธิบายด้วยน้ำเสียงสงบและมั่นใจ
            
- รักษาสถานการณ์ให้นาน พยายามไม่เคลื่อนไหว
            
1.2 ป้องกันการเกิดอันตรายซ้ำซ้อนในที่เกิดเหตุ
            
บุคลากรควรประเมินสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เช่น ในกรณีจำเป็นอาจต้องตัดกระแสไฟในรถเพื่อไม่ให้รถเคลื่อนไหว หรือทำการหยุดรถด้วยการเจาะยางของล้อรถ ทั้งนี้ เพราะยานพาหนะที่ไม่นิ่งอาจก่ออันตรายแก่ผู้กู้ภัยและผู้บาดเจ็บได้
            
1.3 การช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
            
อุบัติเหตุจราจร ทำได้โดยการควบคุมฝูงชนและการควบคุมจราจร ควรใช้กรวยจราจร ไฟรถพยาบาลฉุกเฉิน ไฟจราจรเป็นเครื่องเตือนอันตรายและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ การวางกรวยจราจรหรือไฟเตือนควรวางให้ห่างจากจุดเกิดเหตุในระยะทางเป็น 3 เท่าของป้ายจำกัดความเร็ว เช่น อุบัติเหตุบนถนนที่จำกัดความเร็ว 50 กม./ชม. ก็ควรวางอุปกรณ์ก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 150 เมตร ซึ่งจะเป็นการเตือนให้หยุดรถได้ในเวลาที่พอเหมาะ และหากเป็นทางโค้งควรวางกรวยจราจรก่อนถึงและสิ้นสุดทางโค้งด้วย
            
1.4 การประเมินความจำเป็นในการเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากที่เกิดเหตุมายังที่ปลอดภัย
            
1.5 การป้องกันตนเองของผู้ช่วยเหลือ เช่น ต้องใส่เครื่องป้องกันตนเองก่อนทำงาน เป็นต้น
            
2. กลไกการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ (Mechanism of injury)             ประเมินว่ากลไกการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างไรเพื่อประเมินอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยได้ เช่น ชนคนเดินถนน รถพลิกคว่ำ การกระเด็นออกจากรถ
            
3. ความรุนแรงของอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ (Situation)             ประเมินสถานการณ์โดยดูจากการเสียหายของรถ สอบถามจากผู้พบเห็นเหตุการณ์ ผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือไม่ ผู้ช่วยเหลือต้องพิจารณาว่ามีผู้ป่วยจำนวนเท่าใดและต้องช่วยเหลือใครบ้าง ถ้ามีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องคัดกรอง (triage) และจัดลำดับการช่วยเหลือตามความรุนแรง
            
การเตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุหมู่ (Mass Casualty)             ณ จุดเกิดเหตุจะวุ่นวายมาก ทำให้ต้องมีการจัดระบบมารองรับและมีการซ้อมแผนเป็นระยะ ๆ             มาตรการสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยหมู่             1. ต้องมีแผนการ ดังนี้             - การประเมินสถานการณ์
            
- การรายงานระดับสูง
            
- การตระเตรียมพื้นที่ปฏิบัติการ
            
- ความปลอดภัยของทีมงาน
            
- กองบัญชาการ
            
- การสื่อสาร
            
- การควบคุมจราจรและฝูงชน
            
- การค้นหาผู้บาดเจ็บ
            
- คัดกรองและช่วยเหลือ
            
- นำส่งโรงพยาบาล
            
2. ต้องมีการซ้อมแผน             การจัดเตรียมพื้นที่ปฏิบัติการ
            
1. พื้นที่ควบคุมเข้มงวด คือบริเวณที่เกิดเหตุที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติงานของหน่วยกู้ภัย ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าเด็ดขาด
             2. พื้นที่ควบคุมทั่วไป ประกอบด้วยหน่วยปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น กองบัญชาการ จุดรองรับผู้ป่วยเพื่อการคัดกรอง จุดรักษาพยาบาล จุดแถลงข่าว พื้นที่ในการจอดรถพยาบาลและลำเลียงผู้ป่วย เป็นต้น

             การรักษาพยาบาลนอกโรงพยาบาลมีระบบการทำงานเพื่อดูแล
ผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสมจนอาการปลอดภัยก่อนนำส่งไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง สำหรับการดูแลผู้บาดเจ็บนั้นมักนิยมนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุบัติภัยหมู่จากสงครามหรือวิบัติภัยจากธรรมชาติอีกด้วย

ที่มา http://www.medicthai.com

หลักการช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน

  การช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุโดยกะทันหัน เป็นการบำบัดการรักษาเป็นพิเศษเฉพาะเป็นรายๆไป ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ เพื่อลดอันตรายให้น้อยลงหรือให้ผู้ป่วยปลอดภัย วิธีการช่วยเหลือชีวิตคนเมื่อยามฉุกเฉิน นอกจากจะช่วยชีวิตผู้อื่นแล้วยังเป็นประโยชน์แก่ตนเองด้วย มีหลักทั่วไป ดังนี้
1. อย่าให้ผู้คนล้อมตัวผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดโปร่ง มีแสงสว่างพอสมควรจะได้ทำการปฐมพยาบาลได้สะดวก
2. ให้นอนนิ่งๆในท่าที่ถูกต้องต่อการพยาบาล
3. คอยสังเกตชีพจร การหายใจ และอาการป่วยไว้ตลอดเวลา
4. ก่อนนำผู้ป่วยไปหาแพทย์ ควรได้รับการปฐมพยาบาลเรียบร้อยแล้ว
5. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือนำส่งโรงพยาบาล ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการ
6. ในการนำผู้ป่วยไปหาแพทย์ หรือส่งโรงพยาบาล ควรมีรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วย และการปฐมพยาบาลมาก่อน เพื่อความสะดวกที่แพทย์จะทำการรักษาต่อไป
7. ถ้าผู้ป่วยอาการสาหัส อย่ารักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

     ทำไมต้อง ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน แล้วมีความจำเป็นอะไรที่เราจะต้องมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินนี้ เพราะว่าเบื้องหลังของความสวยงาม หรือ กว่าจะมาเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย และที่สำคัญระบบนี้เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ได้รับอุบัติเหตุมีโอกาสรอดชีวิต ภาพต่อไปนี้จะบ่งบอกความสำคัญของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน


   อหิวาตกโรค ระบาดปี พ.ศ. 2416 ที่กรุงเทพ (โรคห่า กินเมือง) ซึ่งยังไม่มีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ภาพนี้เป็นภาพแล้งกินศพที่วัดสระเกต แต่โชคดีที่มีพ่อค้าชาวจีน(ปัจจุบันคือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)เรี่ยไรเงินจัดการศพไร้ญาติไปทำพิธีต่าง ๆรวมถึงการเก็บศพของผู้คนที่ได้รับอุบัติต่าง ๆ ตามถนน

         ความสนุกสนานในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ทราบวิธีการเคลื่อนย้ายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาจทำให้ผู้ได้รับอุบัติเหตุเสียชีวิตได้
แก้ปัญหาการลักทรัพย์ของผู้ได้รับอุบัติเหตุ
                       รองรับอบุติเหตุหมู่ ที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
                         รองรับอุบัติภัย ภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่คาดคิด

เมื่อเจออุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องมีอะไร     
ก่อนอื่นเราต้องตั้งสติก่อนนะครับ เมื่อเรามีสติความคิดและปัญญาเกิดจริงๆ งานนี้ มีได้สติแล้วก็เรียบเรียงลำดับดังนี้
1. เกิดอะไรขึ้น
2. เกิดที่ไหน
3. อาการเบื้องต้นของผู้ได้รับอุบัติเป็นอย่างไร
4. อายุ เพศ โรคประจำตัว (ตรวจสอบจากเอกสารติดตัว)
5. เบอร์โทรติดต่อกลับผู้แจ้ง

เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็อย่ารอช้า โทร 1669 (ฟรี) ตลอด 24 ชั่วโมง